สาวโอนเงินผิด เผยยอดเงินที่ได้คืน แทบทรุดคนรับอ้างที่เหลือใช้หมดแล้วไม่มีคืน

570
โอนเงินผิดบัญชี

จากกรณี น.ส.วรรณ ชวดพงษ์ อายุ 40 ปี ชาว จ.สมุทรสาคร ว่าได้โอนเงินผิดบัญชี เงินไปเข้าบัญชีของสาวชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ต้องลำบากวิ่งหาสืบสวนเอง ไม่สามารถพึ่งธนาคารอายัดเงินไว้ได้ทัน

สอบถาม น.ส.วรรณ ชวดพงษ์ เล่าว่า ตนประกอบธุรกิจ ร้านขายส่งหมูหมักชื่อ เอส.พี.ฟู้ดส์ 2017 อยู่สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 08.30 น. ได้ใช้แอปธนาคาร โอนเงินค่าเนื้อหมูให้กับคู่ค้าที่เพิ่งค้าขายด้วยกันเป็นครั้งแรก จำนวน 293,439 บาท หลังโอนได้ส่งสลิปไปให้คู่ค้าดู ได้รับคำตอบว่าใบสลิปไม่ใช่ชื่อเขา เมื่อมาตรวจสอบหมายเลขบัญชี พบว่าตัวเองกดเลขผิดจากเลข 1 มาเป็นเลข 7 แล้วเงินไปเข้าบัญชี น.ส.เสาวณีย์ จึงรู้ว่าโอนเงินผิด ภายใน 2 นาที ให้สามีซึ่งเป็นเจ้าของบัญชี เดินทางไปที่ธนาคาร ในสมุทรสาคร ทันที

ส่วนตัวเองติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของธนาคาร โดย จนท.คอลเซ็นเตอร์ ระบุว่า ไม่สามารถอายัดบัญชีได้ เพราะไม่มีหน้าที่โดยตรง จะต้องไปที่ธนาคารสาขา ทันใดนั้นสามีได้โทรศัพท์แจ้งมาว่า ธนาคารแจ้งว่า ต้องติดต่อคอลเซ็นเตอร์ เพราะรวดเร็วกว่า และให้ไปแจ้งความเอาหลักฐานมายืนยันกับธนาคาร

จึงให้ทีมงานค้นหาเฟชบุ๊ก ของคนชื่อวณีย์ ปรากฏว่าพบจึงได้ส่งคำเป็นเพื่อนแต่เขาไม่รับ จากนั้นได้ให้ทีมงานระดมค้นหาบุคคลที่เกี่ยวข้องใกล้ชิด จนกระทั่งไปพบญาติพี่น้องของ น.ส.วณีย์ หลายคน จนได้เบอร์โทรของ วณีย์ เมื่อโทรหาเจ้าตัวกลับบอกว่าไม่ใช่ วณีย์ และตัดสายทิ้งไป

น.ส.วรรณ ยังทำการค้นหาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถติดต่อลูกสาว วณีย์ ได้ ซึ่งเธอยอมรับว่าแม่โอนเงินให้จำนวน 50,000 บาท เธอได้เอาไปปิดค่างวดรถ 20,000 บาท เหลือเงิน 30,000 บาท จะโอนคืนให้ก่อน ส่วนที่เหลือจะผ่อนชำระให้

นอกจากนี้ วณีย์ ยังเอาเงินไปซื้อทองน้ำหนัก 1 บาท และ ซื้อรถมอเตอร์ไซค์อีก 1 คัน ตนจึงติดต่อตำรวจ ให้ไปประสานร้านทอง ร้านทองก็ยอมโอนเงินคืนให้ 30,000 บาท ตำรวจจึงไปตามเอาทองจาก วณีย์ มาคืนให้ร้านทอง

รวมทั้งหมดที่ วณีย์ โยกย้ายเงิน และไปซื้อสินค้า รวม 5 คน ได้เงินคืนมาแล้ว 150,000 บาท น.ส.วรรณ ได้นำเรื่องราวนี้ ไปแชร์ในเพจศูนย์แจ้งข่าวบุรีรัมย์ วณีย์ จึงโทรกลับมาหาบอกจะโอนเงินคืนให้ 55,000 บาท ที่เหลือจะขอผ่อนชำระ ซึ่ง น.ส.วรรณ เจ้าของเงินก็ตกลง

แต่ วณีย์ กลับผิดคำพูด โอนมาคืนให้เพียง 10,000 บาท เมื่อโทรไปถาม กลับตอบว่า ใช้หมดแล้ว ที่เหลือไม่มีจะยอมติด แทน สรุปได้เงินกลับคืนมาทั้งหมด 160,000 ยังคงค้างอีกจำนวน 133,439 บาท น.ส.วรรณ จึงต้องยอม ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายเพราะได้แจ้งความเอาไว้แล้ว

น.ส.วรรณ บอกด้วยว่า ความรู้สึกส่วนตัวยอมรับว่าเสียใจ ทำไมคนเราไม่ยึดหลักศีลธรรม ไม่ใช่ของตนก็อยากได้ และอยากฝากถึงธนาคารพาณิชย์ ทุกแห่ง ว่ากรณีแบบนี้ ควรจะเร่งด่วนอย่างไร หากลูกค้าธนาคารยืนยันตัวตนชัดเจน น่าจะดำเนินการอย่างเร่งด่วน