สธ.เผย ไทยพบโอมิครอน BA.5 แล้ว 1 ราย

375
สธ.เผย ไทยพบโอมิครอน BA.5 แล้ว 1 ราย

วันนี้ (9 พฤษภาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงอัพเดตสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่าประเทศไทยยังมีการตรวจหาสายพันธุ์โควิด-19 ด้วยวิธีโฮล์จีโนม (Whole genomes sequencing) ทั้งคนในประเทศและผู้เดินทางเข้าประเทศอยู่ราว 700-800 ตัวอย่างต่อสัปดาห์

พบว่าระยะหลังเป็นเชื้อโอมิครอนทั้งร้อยละ 100 โดยสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่แพร่เร็วกว่า BA.1 ถึง 1.4 เท่า ทำให้พบสูงถึงร้อยละ 97.6 ขณะที่ BA.1 เหลือเพียงร้อยละ 2.4

การจัดชั้นการกลายพันธุ์ของไวรัสจะมีตั้งแต่ BA.1 BA.2 BA.3 BA.4 BA.5 ไปเรื่อยๆ และยังมีจุดต่อกันอีกเป็น BA.1.1, BA.1.1.11, BA.1.17, BA.2.9 เป็นต้น โดยเมื่อมาดูสายพันธุ์โอมิครอนที่เกิดขึ้นย่อยๆ เป็นลูกหลาน แต่ยังไม่มีข้อมูลว่ามีความรุนแรงขึ้น เพียงแต่เราพบเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการถอดรหัสพันธุกรรม

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยพูดถึงสายพันธุ์ผสม หรือไฮบริด (Hybrid) คือ ใน 1 ไวรัสมี 2 สายพันธุ์ผสมอยู่ โดยจะใช้ X ขึ้นต้นชื่อ ตามที่เราเคยส่งข้อมูลไปในจีเสส (GISAID) ว่าไทยพบสายพันธุ์คล้ายกับ XJ จำนวนหนึ่ง แต่ล่าสุดจีเสสก็ได้สรุปข้อมูลสายผสมตั้งแต่ XA จนถึง XS ยังไม่พบตัวอย่างเชื้อของไทยในระบบของจีเสส จึงสรุปได้ว่าข้อมูลจากไทยยังไม่ถูกจีเสสจัดชั้นในสายพันธุ์ผสมใด

ก่อนที่จะไปถึงจีเสสจะมีชั้นต้นในการใช้เครื่องอัตโนมัติในการเรียกบอกสายพันธุ์ พบว่าตัวอย่างของไทยทั้ง 12 ตัวอย่าง เป็น XM 8 ตัวอย่าง XN 3 ตัวอย่าง และ XE 1 ตัวอย่าง แต่ต้องรอจีเสสวิเคราะห์ว่าใช่หรือไม่ใช่ ทั้งนี้ สายพันธุ์ลูกผสมในไทยไม่น่ากังวล เพราะน่าจะพบน้อยลง เนื่องจากเชื้อเดลต้าหายไปเกือบจะสิ้นเชิง ไม่น่าจะมีตัวอะไรมาไฮบริด ยกเว้นแต่ตัวไฮบริดที่เจอขยายพันธุ์ของมันเอง

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกให้แต่ละประเทศช่วยกันเฝ้าระวังและตรวจสอบ 3 สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน คือ BA.4, BA.5 ซึ่งพบตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่พบมากแถวแอฟริกาใต้ บอตสวานา และยุโรป โดย BA.4 รายงานเข้าจีเสสแล้ว 955 ราย และ BA.5 รายงาน 441 ราย และสายพันธุ์ BA.2.12.1

พบมากในสหรัฐอเมริกา ประมาณ 1 หมื่นราย ที่รายงานเข้าไปในจีเสสแล้ว ซึ่งมีข้อสังเกตว่าทั้ง 3 สายพันธุ์ย่อยนี้อาจทำให้คนติดเชื้อไปนอนโรงพยาบาล (รพ.) มากขึ้น หมายถึงอาจจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ ประเทศไทยจึงต้องเฝ้าระวังว่าเข้ามาหรือยัง มากน้อยแค่ไหน

วันนี้ทั่วโลกและประเทศไทยจับตา 3 สายพันธุ์นี้ ซึ่งมีข้อกังวลว่าจะทำให้เกิดคนไข้เข้า รพ.มากขึ้นหรือไม่ ซึ่งประเทศไทยยังไม่พบ BA.4 แต่พบ BA.5 แล้ว จำนวน 1 ราย เป็นคนบราซิล ส่งตัวอย่างให้ตรวจตอนเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะนี้หายดีกลับบ้านเรียบร้อย ส่วน BA.2.12.1 ยังไม่พบในไทย แต่พบตัวแม่คือ BA.2.12 จำนวน 2 ราย คือ ชาวอินเดีย และแคนาดา นพ.ศุภกิจกล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่ง เฝ้าระวังตรวจทั้ง 3 สายพันธุ์ โดยเน้นการเก็บตัวอย่างในคนที่มาจากต่างประเทศ ผู้ป่วยอาการหนัก หากพบสัดส่วนผู้ป่วยอาการหนักในเชื้อกลายพันธุ์ที่เราเฝ้าระวังมากขึ้นก็แสดงว่ามีสัญญาณบางอย่าง ซึ่งเราสามารถตรวจเฉพาะจุดด้วยวิธี SNP โดยมีน้ำยาที่ให้แต่ละศูนย์ตรวจได้ปริมาณมาก

ทั้งนี้ ตำแหน่งมาร์กเกอร์ของแต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกัน หากพบ L452R ร่วมกับ del69/70 ถือว่าเป็น BA.4 และ BA.5 และหากเป็น L452Q จะเป็น BA.2.12.1 อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสายพันธุ์ใหม่ แต่กว่าจะรู้ว่าแพร่เร็วแค่ไหน รุนแรง หรือหลบวัคซีน จะใช้เวลาหลังจากนั้นพอสมควร เราจะเพาะเชื้อเมื่อเริ่มมีตัวอย่าง ซึ่งขณะนี้มีเชื้อ BA.5 แล้ว ยังไม่มี BA.4 ก็จะเอามาเพาะเชื้อให้ได้

เมื่อได้เชื้อมากพอก็เอามาตรวจภูมิที่มีต่อเชื้อได้ BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งโปรตีนหนาม L452R เหมือนกับเดลต้า แต่จะสรุปว่ามีความรุนแรงเท่าเดลต้าไม่ได้ ยังต้องดูข้อมูลต่อไป อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากแอฟริกาใต้ว่า เมื่อติดเชื้อด้วย BA.1 ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่สามารถกันติดเชื้อ BA.2 ได้ จึงไม่สามารถกัน BA.4 และ BA.5 ได้ด้วย

แต่หากติดเชื้อ BA.1 เคยรับวัคซีนมาก่อน แม้ภูมิคุ้มกันลดลงก็ไม่มาก จะช่วยกัน BA.4 และ BA.5 ได้มากกว่า เรียกว่าฉีดวัคซีนดีกว่าติดเชื้อโดยธรรมชาติ วัคซีนยังช่วยป้องกันไม่ว่าสายพันธุ์ไหน นพ.ศุภกิจกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องเฝ้าระวังมากในคนที่เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา กรณี BA.2.12.1 หรือไม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า อาจยังไม่ต้องขนาดนั้น เพราะยังไม่ส่งสัญญาณอะไร เว้นแต่ว่าในอีก 2-3 สัปดาห์จะมีสัญญาณว่ารุนแรงมากขึ้นหรือหนักขึ้น แต่หากให้คาดเดาไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะลูกหลานที่ออกมาก็ไม่ได้มีอะไร เหมือนตอน BA.2.2 ที่ฮ่องกงคิดว่าทำให้ป่วยหนัก ปรากฏว่าเป็นเพราะคนไข้เพิ่มจำนวนขึ้นมาก และมีปัญหาเรื่องการจัดการเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ไทยพบโอมิครอน BA.5 แล้ว 1 ราย สธ.ยังไม่ชี้รุนแรง ขอดูข้อมูลอีกระยะ